ชุดข้อมูลมาตรฐานของโรงพยาบาลเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคระยะที่ 1Hospital Standard Datasets for the First Phase Cost per Disease Project
การทราบต้นทุนที่ถูกต้อง ถูกภารกิจผลงานบริการ และถูกเวลา และลงลึกถึงหน่วยต้นทุนที่ย่อยที่สุดที่ สามารถอธิบายภารกิจผลงานบริการได้อย่างถูกต้อง การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานของโรงพยาบาลเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับ ด้วยวิธีวิเคราะห์มาตรฐานเดียวกัน และนำข้อมูลต้นทุนมาเปรียบเทียบกันได้ วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาย้อนหลังด้วยเทคนิคการถอดบทเรียนหลังการปฏิบัติงาน โดยประมวลจากประสบการณ์จากการจัดทำข้อมูลต้นทุนบริการ ในโครงการศึกษาต้นทุนรายโรค ใน 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2565) และสังเคราะห์ผลเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาชุดข้อมูลต้นทุนมาตรฐาน ประชากรที่ใช้ ศึกษา คือ โรงพยาบาลรัฐสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่สมัครเข้าร่วมโครงการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคระยะที่ 1 และมีการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลต้นทุน จนสามารถนำข้อมูลนั้นมาคำนวณต้นทุนได้ จำนวน 40 แห่ง รวบรวมข้อมูลจากการสังเกตระบบการบันทึกข้อมูลของโรงพยาบาลทุกระดับ สัมภาษณ์ ผู้บริหารและผู้จัดทำข้อมูลต้นทุนของโรงพยาบาล ตลอดจนศึกษาข้อมูลต้นทุนที่โรงพยาบาลรวบรวมให้ หลังจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปผลและจัดทำชุดข้อมูลมาตรฐานให้โรงพยาบาลรวบรวมข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค โดยมีกรอบในการรวบรวมข้อมูลให้สอดคล้องกับวิธีการศึกษาต้นทุนตามการปฏิบัติงานจริง ในมุมมองของผู้ให้บริการ ซึ่งเน้นการใช้ข้อมูลที่โรงพยาบาลบันทึกไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ นำมาจัดระเบียบตามชุดข้อมูลมาตรฐานที่กำหนด และวิเคราะห์ต้นทุนรายผู้ป่วยด้วยวิธีต้นทุนจุลภาค โดยใช้โปรแกรม HSCE (Healthcare Service Cost Estimation) มีหน่วยในการวิเคราะห์ คือ ต้นทุนต่อหน่วยของแต่ละกิจกรรมบริการและต้นทุนข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคล ผลการศึกษาได้ชุดข้อมูลมาตรฐานในการคำนวณต้นทุน 55 แฟ้มข้อมูล ซึ่งครอบคลุมข้อมูลต้นทุน (ค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุน) ข้อมูลเกณฑ์การจัดสรรต้นทุนของหน่วยสนับสนุนที่เรียกว่าต้นทุนทางอ้อม รวมทั้งข้อมูลบริการ ข้อมูลผู้ป่วย และค่ารักษาพยาบาล โดยคาดว่าจะเป็นการพัฒนาฐานข้อมูลต้นทุนบริการของโรงพยาบาลในประเทศไทย ต่อไป
เพื่อพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานของโรงพยาบาลในการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรค สำหรับโรงพยาบาลทุกระดับ ด้วยวิธีวิเคราะห์มาตรฐานเดียวกัน และนำข้อมูลต้นทุนมาเปรียบเทียบกันได้
การพัฒนาชุดข้อมูลมาตรฐานในการวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนด้วยโปรแกรม HSCE (Healthcare Service Cost Estimation) นี้ ก้าวผ่านประสบการณ์ 5 ปีใน 40 โรงพยาบาล ดึงข้อมูลจากระบบคอมพิวเตอร์หรือสารสนเทศของโรงพยาบาล สำเร็จได้ด้วยการสร้างแฟ้มมาตรฐาน 55 แฟ้มข้อมูล ซึ่งครอบคลุมข้อมูลต้นทุน (ค่าแรง ค่าวัสดุ และค่าลงทุน) ข้อมูลเกณฑ์การจัดสรรต้นทุนของหน่วยสนับสนุนที่เรียกว่าต้นทุนทางอ้อม รวมทั้งข้อมูลบริการ ข้อมูลผู้ป่วย และค่ารักษาพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการทำความเข้าใจกับแฟ้มมาตรฐานเพื่อแปลงข้อมูลของโรงพยาบาลให้จัดการในโปรแกรม HSCE เป็นพื้นฐานขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาฐานข้อมูลต้นทุนบริการของโรงพยาบาลในประเทศไทย
ข้อมูลต้นทุน, ต้นทุนบริการ, ต้นทุนจุลภาค, cost data, service cost, micro-costing
ดาวน์โหลดบทความวิจัยฉบับเต็ม :: ชุดข้อมูลมาตรฐานของโรงพยาบาลเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคระยะที่ 1
Powered by Froala Editor