อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาเพื่อการประมาณการต้นทุนบริการ ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข
อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการคำนวณต้นทุนรายบุคคลได้ กรณีที่มีข้อมูลค่ารักษาเป็นรายบุคคลครบถ้วน การศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนออัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษารายหมวดค่ารักษาของโรงพยาบาลแต่ละกลุ่มที่ได้จากการวิธีการคำนวณต้นทุนมาตรฐาน ข้อมูลที่ใช้ได้จากข้อมูลต้นทุนและค่ารักษาของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล จากโรงพยาบาล 40 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการวิเคราะห์ต้นทุนรายโรคระยะที่ 1 (ปีงบประมาณ 2562-2565) ซึ่งได้จากวิธีวิเคราะห์ต้นทุนการบริการทางการแพทย์แบบมาตรฐาน และการวิเคราะห์ต้นทุนรายผู้ป่วยด้วยวิธีต้นทุนจุลภาค สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่ากลาง (median) ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (arithmetic mean) ค่าเฉลี่ยเรขาคณิต (geometric mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา ได้อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาจำแนกตามกลุ่มโรงพยาบาล ได้แก่ อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาระดับโรงพยาบาล อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาระดับหมวด อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาระดับหมวดของผู้ป่วยนอก และอัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาระดับหมวดของผู้ป่วยใน อันเป็นข้อมูลสำคัญที่สามารถนำไปใช้อ้างอิงในการคำนวณต้นทุนรายบุคคลได้
การคำนวณอัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษา
การคำนวณอัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษา หรือ RCC มีวิธีการดำเนินการ ดังนี้
1) การรวบรวมข้อมูลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในรายบุคคล ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากโปรแกรม HSCE ได้ข้อมูลต้นทุนและค่ารักษาเป็นรายหมวด แบ่งเป็นข้อมูลผู้ป่วยนอก 88 ชุด (ข้อมูลจาก 1 โรงพยาบาลใน 1 ปีถือว่าเป็น 1 ชุด) รวมข้อมูลผู้ป่วยนอกที่รับบริการ 34,696,442 ครั้ง และข้อมูลผู้ป่วยใน 88 ชุด รวมข้อมูลการรับบริการผู้ป่วยใน 2,263,459 ราย
2) ตรวจสอบความถูกต้อง สมบูรณ์ ของข้อมูลผู้ป่วย ข้อมูลต้นทุนและค่ารักษา ตามเกณฑ์ ดังนี้
2.1) ข้อมูลผู้ป่วยนอก มีเกณฑ์ในการตัดข้อมูลทั้งต้นทุนและค่ารักษาออกจากการวิเคราะห์ คือ 1) ข้อมูลที่มีค่ารักษาและต้นทุนในแต่ละหมวดต่ำกว่า 0 บาท 2) ข้อมูลที่มีค่ารักษาและต้นทุนรายหมวดสูงกว่า 100,000 บาท ยกเว้นหมวดยาจะตัดข้อมูลที่มีค่ารักษาและต้นทุนสูงกว่า 200,000 บาท เนื่องจากมีผู้ป่วยที่ใช้ยาราคาแพง เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งฯลฯ 3) ข้อมูลที่มีค่ารักษาและต้นทุนต่อครั้ง ต่ำและสูงมากผิดปกติ คือ ข้อมูลที่มีต้นทุนต่อครั้ง ต่ำกว่า 10 บาท และสูงกว่า 500,000 บาท 4) ตัดข้อมูลผู้ป่วยที่มีต้นทุนรวมทั้งผู้ป่วยนอกต่อครั้งเกินจากค่าเฉลี่ยไปมากในแต่ละโรงพยาบาล เรียกว่าเป็นการตัดข้อมูลที่ตกเกณฑ์ รายโรงพยาบาล (trimming of outliers) โดยยึดหลักการตัดออกให้น้อยที่สุดแต่ได้ผลในการลดส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานได้มากที่สุด คือ การตัดข้อมูลผู้ป่วยที่มีต้นทุนรวมอยู่นอก 3 เท่า ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ยเรขาคณิต (geometric mean)
2.2) ข้อมูลผู้ป่วยใน มีเกณฑ์ในการตัดข้อมูลทั้งต้นทุนและค่ารักษา รวมทั้งข้อมูลผู้ป่วยที่ใช้ในการจัดกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมไทย ฉบับ 6.3 (Thai diagnosis related group; TDRG) ออกจากการวิเคราะห์ คือ 1) ความถูกต้องของข้อมูลราย admission (ราย) ได้แก่ ข้อมูลทางคลินิกและข้อมูลค่ารักษาผิดพลาด/ไม่สมบูรณ์, ข้อมูลที่จัดกลุ่ม TDRG ไม่ได้ หรือมีค่าน้ำหนักสัมพัทธ์ (relative weight, RW) เท่ากับ 0 และข้อมูลผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลมากกว่า 180 วัน 2) ข้อมูลผู้ป่วยที่มีค่ารักษาพยาบาลรวมต่ำและสูงมากผิดปกติ คือ ค่ารักษารวมต่ำกว่า 400 บาท (เนื่องจากหากรับไว้เป็นผู้ป่วยในต้องมีค่ารักษาอย่างน้อย คือ ค่าห้องค่าอาหาร จำนวน 400 บาทต่อวันกรณีไม่ได้มีการรักษาใด ๆ) หรือสูงกว่า 5 ล้านบาท (เทียบกับข้อมูลผู้ป่วยที่มีการรักษาที่ยุ่งยากและโรคที่รักษายากที่สุดของโรงพยาบาลศูนย์ ขนาดมากกว่า 1,000 เตียงและจำนวนวันนอนโรงพยาบาลไม่เกิน 180 วัน ซึ่งค่ารักษาเฉลี่ยไม่เกิน 5 ล้านบาท) 3) ข้อมูลผู้ป่วยที่มีต้นทุนรวมต่อรายต่ำและสูงมากผิดปกติ คือ 3.1) ต้นทุนรวมต่ำกว่า 300 บาท (เทียบกับต้นทุนค่าห้องค่าอาหารต่อวันต่ำสุด คือ 308 บาท) (20) 3.2) ต้นทุนต่อวันสูงกว่า 5 แสนบาทและต่ำกว่า 100 บาท 4) ตัดข้อมูลผู้ป่วยที่มีต้นทุนเกินจากค่าเฉลี่ยไปมากในแต่ละกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม เรียกว่าเป็นการตัดข้อมูลที่ตกเกณฑ์ ราย DRG (trimming by DRG) ตามหลักการตัดออกให้น้อยที่สุดแต่ได้ผลในการลดส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานได้มากที่สุด คือการตัดข้อมูลผู้ป่วยที่มีต้นทุนรวมอยู่นอก 3 เท่า ของส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานของค่าเฉลี่ยเรขาคณิต (geometric mean)(21-24) หลังตรวจสอบข้อมูล ได้ตัดข้อมูลผู้ป่วยนอก ออกไป จำนวน 3,146,141 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 9.1 ของข้อมูลผู้ป่วยนอกทั้งหมด และตัดข้อมูลผู้ป่วยใน จำนวน 77,738 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของข้อมูลผู้ป่วยในทั้งหมด ออกจากการวิเคราะห์
3) นำข้อมูลผู้ป่วยรายบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว มาคำนวณอัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษา(ratio of cost to charge, RCC) (25) รายหมวดค่ารักษาของแต่ละโรงพยาบาล จากสูตร
อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษา = ต้นทุน (cost) / ค่ารักษา หรือราคาค่าบริการ (charge)
การตีความ
โดยการศึกษานี้นำเสนอ RCC ตามระดับโรงพยาบาล และระดับหมวดค่ารักษาในภาพรวม (ผู้ป่วยนอก+ผู้ป่วยใน) และแบ่งเป็น RCC ระดับหมวดของบริการผู้ป่วยนอก กับ RCC ระดับหมวดของบริการผู้ป่วยใน จำแนกตามกลุ่มโรงพยาบาล
อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษา, ต้นทุนผู้ป่วยรายบุคคล, ต้นทุนโรงพยาบาล, ratio of cost to charge, individual patient costs, hospital costs
ดาวน์โหลดบทความวิจัยฉบับเต็ม :: อัตราส่วนต้นทุนต่อค่ารักษาเพื่อประมาณการต้นทุนบริการในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข.pdf
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor
Powered by Froala Editor